แนวทางการนำทฤษฎีพหุปัญญาไปใช้
จากรายงานการวิจัยการพัฒนาหลักสูตรและลดระยะเวลาเรียนและเพิ่มประสบการณ์สำหรับนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษด้านภาษาอังกฤษ ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ของสำนักงานคณะกรรมการสถานศึกษาแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมกับ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒที่ระบุการใช้พหุปัญญาในห้องเรียนว่า การจะใช้พหุปัญญาในห้องเรียนนั้นคงต้องเริ่มต้นด้วยเป้าหมายและค่านิยมของการศึกษาเช่น สอนเพื่อความเข้าใจเพื่อเตรียมบุคคลให้ทำงานเมื่อจบการศึกษา เพื่อพัฒนาศักยภาพของคนอย่างเต็มที่หรือสอนให้เด็กเชี่ยวชาญในวิชาหลักจึงจะสามารถตอบได้ว่านำพหุปัญญา (MI) มาใช้ได้อย่างไร ดร.การ์ดเนอร์ เห็นว่าพหุปัญญาจะเป็นเครื่องมือที่ดีเลิศในการเรียนการสอน แคมม์เปล และดิคคินสัน ได้กล่าวถึงการใช้พหุปัญญาในห้องเรียนดังนี้
1.การใช้การนำเข้าสู่บทเรียน เช่น เด็กบางคนอาจจะเข้าใจกราฟหรือพืชคณิตบนกระดานดำยาก ครูจึงนำสนามเด็กเล่นโรงเรียนเป็นแกนกราฟ ครูนำนักเรียนมาทำกราฟที่สนามโดยทุกคนเป็นจุดๆ หนึ่งบนเส้นกราฟหรือในออสเตรเลียมีโรงเรียนแห่งหนึ่งมีสนามเล่นปูอิฐเป็นรูปสุริยจักรวาล ครูนำนักเรียนมาเรียนดาราศาสตร์ในสนามให้เด็กๆ เห็นดวงดาวต่างๆ หมุนรอบดวงอาทิตย์เป็นต้น
2.ใช้ในการเสริมบทเรียนโรงเรียนในอเมริกาหลายโรงเรียนจัดสัปดาห์พหุปัญญา โดยพยายามใช้ปัญญาหลายๆ อย่างเข้าใจบทเรียน เช่น ใช้ศิลปะและการละครในการเรียนวรรณคดีหรือเรียนดาราศาสตร์ในหัวข้อสุริยจักรวาล โดยใช้ปัญญาทางตรรกศาสตร์และคณิตศาสตร์ วัดระยะทางระหว่างดวงดาวต่างๆรอบดวงอาทิตย์ (ความสามารถทางกล้ามเนื้อในการเคลื่อนไหว) เขียนพูดบรรยายเกี่ยวกับระบบสุริยจักรวาล(การใช้ภาษาพูดและเขียน) เป็นต้นแต่ละบทไม่จำเป็นต้องใช้ทุกปัญญา
3. ใช้ในการส่งเสริมการทำงานด้วยตนเองโดยครูให้เด็ก คิด ริเริ่ม ค้นคว้า ดำเนินการและรายงานผลการดำเนินงานตามโครงงานของตนเอง ซึ่งเด็กมีโอกาสใช้แทบทุกปัญญาทั้ง 8 ด้าน
4. ใช้ในการประเมินผล นั้นคือให้เด็กที่ทำโครงงานเสนอโครงงานและแสดงโครงงานหรือฝึกประเมินโครงงานของตนด้วยตนเองและให้เพื่อนๆ ช่วยประเมินด้วย ซึ่งเด็กจะได้ฝึกปัญญาต่างๆ หลายด้านเช่นกัน
5. การฝึกเป็นลูกมือ ในข้อนี้ ดร.การ์ดเนอร์ ได้เสนอให้นักเรียนประถมหรือมัธยมฝึกเป็นลูกมือหรือฝึกงาน 3 ด้านคือ
1. ด้านศิลปหัตถกรรม
2. ด้านวิชาการ
3. ด้านร่างกายโดยความร่วมมือของชุมชน