แนวคิดพื้นฐานของทฤษฎีพหุปัญญา
ปัญญา (Intelligence) คืออะไร ได้มีความพยายามที่จะอธิบายของคำนี้มาตั้งแต่โบราณกาล เพลโต(Plato) นักปราชญ์ชาวกรีกโบราณเชื่อว่ามนุษย์ส่วนใหญ่ไม่รู้อะไรนักและความรู้ที่มนุษย์มีก็เพียงเล็กน้อย เขากล่าวต่ออีกว่าเขาเป็นคนฉลาดเพราะรู้ตัวว่าเขายังโง่อยู่ เขายังเชื่อว่ามนุษย์จะไม่มีวันเข้าใจสัจธรรมทั้งหมดได้และพอที่จะเข้าใจสัจธรรมได้โดยการศึกษาวิชาเลขาคณิตและตรรกศาสตร์ อริสโตเติล(Aristotle) เห็นว่าการหาความรู้ไม่ใช่การแสวงหาอุดมคติที่เข้าถึงไม่ได้ หากแต่เป็นการทำงานของความนึกคิดจิตใจของมนุษย์(Soul) เขายังกล่าวว่ามนุษย์มีความสามารถทางสติปัญญาสองด้านคือ ด้านที่หนึ่งคือความสามารถในการเข้าใจสถานการณ์ และด้านที่สองคือ ความสามารถในการตัดสินใจและเลือกทางเลือกโดยอาศัยพื้นฐานทางศีลธรรม ในศาสนาพุทธกล่าวถึงลักษณะจิต 3 ชนิด คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งทำให้มนุษย์คิดเชื่อและกระทำในสิ่งที่ถูกต้องในการดำรงชีวิต ศาสนาคริสต์เน้นถึงความสำคัญของศรัทธา ความจงรัก และความเชื่อ นักคิดในยุคเรอเนสซองซ์ (Renaissance) เช่น ลีโอนาโด ดาร์วินชี (Leonardo Da Vinci) โธมัส มอร์ (Thomas Moore) และนิโคโล มาคิอาเวลลี (Niccolo Machieavelli) ได้เน้นถึงความสามารถของมนุษย์ในการคิดริเริ่มสร้างสรรค์และคิดอย่างมีเหตุผล นักคิดเหล่านี้เห็นว่าความสามารถในการคิดทั้งสองแบบนี้สามารถควบคุมโลกและสร้างโลกได้ นักคิดสมัยต่อมาจนถึงปัจจุบันก็ได้พยายามคิดและให้คำจำกัดความของความสามารถของมนุษย์ทางด้านจิตนี้ตลอดมา ในศตวรรษที่ 20 นี้ ความคิดเกี่ยวกับปัญญาของมนุษย์เปลี่ยนไปอย่างมากมายตามความรู้ ความเข้าใจ สมอง และกระบวนการเรียนรู้ของมนุษย์ เช่นรอยเฟิน ฟอยเออร์สไตน์ (Reuven Feuerstein) พอล แมคลีน(Paul Maclean) และโรเจอร์ สเปอรี (Roger Sperry) ได้ให้ความรู้ใหม่เกี่ยวกับสมองส่วนต่าง ๆ และกระบวนการเรียนรู้จากการทำงานของสมอง นักจิตวิทยาชาวสวิสชื่อ ชอง ปีอาเช (Jean Piaget) ก็ให้ทฤษฎีการสร้างความรู้ของมนุษย์ ซึ่งช่วยให้เข้าใจกระบวนการเรียนรู้และการทำงานของสมองมากขึ้น